บทเรียนจากการใช้ เอ็นเนียแกรม ในองค์กรอย่างประสบความสำเร็จ (1/2)

ในปี 2011 EIBN (The Enneagram in  Business Network) ซึ่งผมเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้ง ได้จัดทำ Benchmark Study เพื่อศึกษาแนวทางการใช้เอ็นเนียแกรมในองค์กร ให้ประสบความสำเร็จ

โดยเราสำรวจจาก 72 บริษัททั่วโลก  ในนั้นมี ธนาคารไทย 2 แห่งซึ่งเป็นลูกค้าของเรา ได้ร่วมให้ข้อมูลด้วย

บริษัทเหล่านี้ ได้ใช้เอ็นเนียแกรมอย่างจริงจัง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเช่น

  • พัฒนาผู้นำและทีมงานอย่างก้าวกระโดด
  • เพิ่มพูนความฉลาดทางอารมณ์
  • เพื่อปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงาน
  • เร่งกระบวนการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้รวดเร็วยิ่งขึ้น 

 

โดยเราสอบถามผู้บริหารของบริษัท  ผู้เชี่ยวชาญเอ็นเนียแกรม ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและวิทยากรเอ็นเนียแกรมให้กับองค์กรเหล่านี้

ประเด็นแรก คือ ปัจจัยสำคัญต่อการใช้เอ็นเนียแกรม ให้ประสบความสำเร็จ  ซึ่งได้สรุปไว้ในรูปด้านล่างนี้


1. Needs มุ่งเน้นที่ความต้องการที่แท้จริง ทั้งเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว (82%)

แม้การใช้เอ็นเนียแกรมในการทำงานมีความหลากหลายมาก เช่น ใช้สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี ภาวะผู้นำ การขาย ความผูกพันของพนักงาน การพัฒนาผลงาน อีคิว การบริหารความขัดแย้ง การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม การเพิ่มผลผลิต และการขยายตลาดไปสู่ระดับโลก  แต่คำตอบที่ตรงกันของผู้ที่เราสัมภาษณ์คือ ต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญต่อองค์กรจริงๆ ไว้อย่างชัดเจน และต้องทำให้เห็นว่าได้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น  นอกจากนี้ ที่สำคัญมากพอกันคือ การนำเอ็นเนียแกรมไปใช้ในชีวิตส่วนตัวให้เป็นประโยชน์ด้วย

“มีโจทย์สำคัญทั้งในที่ทำงานและที่บ้านที่ยังไม่ได้รับคำตอบ  ถ้าในที่ทำงาน คือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความเข้าอกเข้าใจกัน ความยืดหยุ่น  การลดลำดับชั้นให้น้อยลง และให้องค์กรมีลักษณะแบบเครือข่ายมากขึ้น  ส่วนที่บ้านก็เป็นเรื่องความเครียดและภาระต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งความยุ่งยากซับซ้อนในชีวิตที่มีมากขึ้นด้วย   เอ็นเนียแกรมช่วยตอบโจทย์เหล่านี้ได้ทั้งหมด”

2. Leadership Support – การสนับสนุนอย่างเต็มที่ของผู้บริหาร และความมุ่งมั่นขององค์กร (69%)

ผู้บริหารระดับสูงเป็นปัจจัยสำคัญ ด้วยการช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น แสดงการยอมรับ อนุมัติและให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน  รวมทั้งพูดโน้มน้าวคนอื่นให้เห็นประโยชน์ของเอ็นเนียแกรม

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่สำคัญคือ ขอการสนับสนุนและความมุ่งมั่นจากผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งจะสร้างแรงกระตุ้นให้ดำเนินการอย่างได้ผล

“ผู้นำต้องมีความปรารถนาอย่างมากที่จะพัฒนาทั้งสำหรับตัวเองและผู้อื่น”

3. AccurateTyping – การค้นหาสไตล์เอ็นเนียแกรมที่ใช่ (66%)

วิธีค้นหาสไตล์เอ็นเนียแกรมที่ได้ผลที่สุดคือ ด้วยตัวเองภายใต้คำแนะนำจากมืออาชีพ  เพราะจะได้ความแม่นยำ สนุกและช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ดีที่สุด
สิ่งที่สำคัญพอกันคือ ทั้งวิทยากรหรือที่ปรึกษา ผู้บริหาร และองค์กรเองต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่จะป้องกันไม่ให้มีการตีตรา หลีกเลี่ยงคำศัพท์ทางจิตวิทยาหรือคำที่เข้าใจได้ยาก  แต่มุ่งเน้นที่การพัฒนา การเพิ่มพูนศักยภาพ และการเปิดใจต่อความแตกต่างด้วยความเคารพ

“หลีกเลี่ยงการตีตรา ก้าวพ้นความเป็นเบอร์ไปสู่บุคลิกภาพที่สมดุล”

4. Trainer/Consultant Quality –  คุณภาพของวิทยากร ที่ปรึกษา เวิร์กช็อบ (56 %)

ปัจจัยเรื่องคุณภาพมีความสำคัญยิ่งยวด ทั้งเรื่องผู้ที่เป็นวิทยากรหรือที่ปรึกษาที่เลือกใช้ กระบวนการสัมมนา และกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่จะทำ  วิทยากรหรือที่ปรึกษาต้องมีความรอบรู้ทั้งในเรื่องเอ็นเนียแกรม และกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กร  ต้องสามารถนำการสัมมนาได้อย่างน่าสนใจในแบบ interactive  นำเสนอเนื้อหาอย่างถูกต้อง  ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ลึกซึ้ง ไม่ตัดสินกัน  กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม  และวิทยากรยังต้องสามารถตอบคำถามและข้อสงสัยต่างๆ ได้

เวิร์กช็อบ โปรแกรม และเครื่องมือต้องมีรูปแบบแปลกใหม่ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวัฒนธรรมและความต้องการขององค์กร และดำเนินไปในบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุก ตื่นเต้น และรู้สึกปลอดภัย

“ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงของวิทยากรมีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้เอ็นเนียแกรมมีความน่าเชื่อถือ และสามารถเชื่อมโยงไปยังความต้องการขององค์กร”

5 Integration – การประยุกต์ใช้อย่างรอบด้านภายในองค์กร (54 %)

องค์กรต้องนำเอ็นเนียแกรมไปประยุกต์ใช้ในด้านใดก็ตามที่กำหนดไว้ ให้ได้นานพอจนเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในแต่ละวัน  สิ่งนี้จะช่วยให้มีการฝึกฝนหรือปฏิบัติจริง และเอื้อให้การปรับพฤติกรรม (transfer of learning) เป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังจำเป็นที่ต้องส่งเสริมให้มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่างๆ  เช่น โค้ชชิ่งหรือระบบพี่เลี้ยง การจัดเวิร์กช็อบอย่างต่อเนื่อง อีเลิร์นนิ่ง เว็บไซต์  แอพในสมารต์โฟน หนังสือ การพูดคุยกัน ปฏิสัมพันธ์ในทีม และโครงการนำร่องใหม่ๆ เป็นต้น

                 “ใช้เอ็นเนียแกรมในรูปแบบผสมผสาน ภายใต้แผนการที่ต่อเนื่อง ยืดหยุ่นและสอดประสานกัน”

6. Readiness – ความพร้อมขององค์กร (33 %)

เพื่อให้คนในองค์กรเปิดใจรับเอ็นเนียแกรม  ในองค์กรเองต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากพอ มีการเปิดใจ ความสนใจใคร่รู้ ความเคารพซึ่งกันและกัน และความยินดีที่จะลองสิ่งใหม่ๆ

“หากปราศจากความพร้อม  พนักงานอาจกลัวว่า เอ็นเนียแกรมอาจถูกใช้เป็นอาวุธทำร้ายกัน”

 

 

 

 

(อ่านตอนถัดไป คลิก)

บทเรียนจากการใช้ เอ็นเนียแกรม ในองค์กรอย่างประสบความสำเร็จ (2/2)


วิทยากร

อ. วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช (CPA, MBA, MA)

  • MD บ. สยามเอ็นเนียแกรม คอลซัลติ้ง จำกัด
  • Certified Enneagram Trainer, Accredited Enneagram Teacher (IEA)
  • Certified MBTI Practitioner
  • ประสบการณ์ในบริษัทต่างๆ 20 ปี
    (ตำแหน่งสุดท้าย Finance & HR Director – Bisnews AFE)
  • นำการสัมมนาหลักสูตร เอ็นเนียแกรม ให้กับองค์กรต่างๆ มากกว่า 600 รุ่น
  • แปลหนังสือเอ็นเนียแกรม และอื่นๆ รวม 14 เล่ม