15. เอ็นเนียแกรม : ศาสตร์เพื่อความ เข้าใจตนเองและผู้อื่น (650 บาท ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6)

The Enneagram : Understanding Yourself And The Others In Your Life

ผู้แต่ง : เฮเลน พาล์มเมอร์
ผู้แปล : วาจาสิทธิ์  ลอเสรีวานิช
พิมพ์ครั้งแรก : 2546

เนื้อหา: เฮเลน  พาล์มเมอร์ (Helen Palmer) เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกคนสำคัญที่ทำให้เอ็นเนียแกรมที่เกี่ยวกับบุคลิกลักษณะเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน The Enneagram : Understanding Yourself And The Others In Your Life นี้ เป็นหนังสือเล่มแรกของเธอที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1988 และนับเป็นหนังสือเกี่ยวกับ Enneagram ฉบับสมบูรณ์เล่มแรกที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมา โครงสร้าง และเรื่องราวของลักษณ์ทั้งเก้า รวมถึงแนวทางในการพัฒนาตนเองของคนแต่ละลักษณ์ เนื้อหาสำคัญของหนังสือเล่มนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาของลักษณ์ต่าง ๆ มาจากการ ถอดความจากการสัมภาษณ์คนที่เป็นตัวแทนของแต่ละลักษณ์ (Panel Interview) แล้วกลั่นกรอง ตรวจเช็ค และสรุป เป็นวิธีการสอนเอ็นเนียแกรมในแบบที่เธอเรียกว่า “Oral Tradition” คือ ให้คนแต่ละลักษณ์แสดงเรื่องราวที่เป็นประเด็นชีวิตของตนเองด้วยการบอกเล่า Palmer เชื่อว่านี่เป็นวิธีถ่ายทอดความรู้เรื่องเอ็นเนียแกรมที่ทรงพลังที่สุด


ตัวอย่างบางส่วนจากตอนต้นของแต่ละบท

คนลักษณ์ 1  คนสมบูรณ์แบบนิยม (The Perfectionist)

คนลักษณ์หนึ่งเป็นเด็กดี   เขาเรียนรู้ที่จะประพฤติตัวได้อย่างเหมาะสม มีความรับผิดชอบ และเหนือสิ่งอื่นใด ทำสิ่งที่ถูกต้องในสายตาของผู้อื่น   เขาจดจำตอนที่เคยถูกตำหนิติเตียนอย่างเจ็บปวดได้  ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะตรวจสอบตนเองอย่างเข้มงวด เพื่อหลีกเลี่ยงการทำสิ่งผิดพลาดให้ผู้อื่นเห็น   คนหนึ่งคิดจากมุมมองของตัวเองว่า  คนอื่นทุกคนก็ย่อมปรารถนาที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเหมือนตัวเขา   คนลักษณ์นี้จึงมักจะผิดหวังกับเรื่องที่เห็นว่าเป็นความผิดพลาดทางศีลธรรมของผู้อื่น



คนลักษณ์ 2  
ผู้ให้ (The Giver)

คนลักษณ์สองชอบเข้าหาคนอื่นและทำให้คนอื่นชื่นชอบในตัวเขา   คนลักษณ์นี้ต้องการความรัก การเป็นที่ยอมรับ การปกป้องจากคนอื่น รวมทั้งต้องการให้ตนมีความสำคัญอย่างมากต่อชีวิตคนอื่น   เพราะในวัยเด็ก คนสองได้รับความรักและความมั่นคงทางจิตใจด้วยการตอบสนองความต้องการของผู้อื่น   ความพยายามแสวงหาการยอมรับจากคนอื่นอย่างมาก ทำให้คนสองพัฒนาความละเอียดอ่อนเป็นพิเศษในการรับรู้อารมณ์และสิ่งที่คนอื่นชื่นชอบ ผู้ให้กล่าวว่า เขาจะปรับเปลี่ยนความรู้สึกตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการผู้อื่น เพื่อจะทำให้ตนเองเป็นที่นิยมชมชอบของคนนั้น  และถ้าไม่ได้รับการยอมรับ เขาก็ยิ่งพยายามปรับตัวมากจนเหมือนย้ำคิดย้ำทำถึงขั้นทำให้ลืมความต้องการส่วนตัว เพราะพยายามประจบผู้อื่นให้ชอบตนเอง



คนลักษณ์ 3  
นักแสดง (The Performer)

ลักษณ์สามเป็นเด็กดีที่พยายามสร้างความสำเร็จเพื่อให้ได้รับรางวัล   เมื่อกลับจากโรงเรียนถึงบ้าน  คำถามที่เด็กคนสามมักได้รับก็คือ “วันนี้ทำอะไร ได้เก่งแค่ไหน”  มากกว่าเป็นคำถามเกี่ยวกับความรู้สึก   คนสามได้รับรางวัลจากผลงานและภาพลักษณ์ มากกว่าจากความผูกพันทางอารมณ์หรือการเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตของคนอื่น   เพราะเขาได้รับความรักเนื่องจากความสำเร็จ  คนสามจึงเรียนรู้ที่จะระงับอารมณ์ตนเองและใส่ใจอยู่กับการแสวงหาสถานะทางสังคม ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าตนเองจะเป็นที่รัก   คนสามคิดว่า จะต้องทำงานหนักเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ จะต้องเป็นผู้นำ จะต้องชนะ  ความล้มเหลวเป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยง เพราะผู้ชนะเท่านั้นที่ควรค่าแก่ความรัก



คนลักษณ์ 4  คนโศกซึ้ง  (The Romantic)

คนลักษณ์สี่มักคิดถึงการถูกทอดทิ้งในวัยเด็ก เป็นผลให้เขาเป็นทุกข์จากความรู้สึกสูญเสียและรู้สึกมีบางอย่างขาดหายไป    สภาพจิตใจของเขาเป็นเหมือนตัวเอกในเรื่องโศกซึ้ง (tragic romantic)  ผู้ซึ่งแม้จะประสบความสำเร็จทางด้านทรัพย์สินเงินทองและชื่อเสียงเกียรติยศ แต่เขาหรือเธอนั้นก็ยังฝังจิตฝังใจอยู่กับอะไรบางอย่าง เช่น คนรักในอดีตที่จากไป  ความรักที่ไกลเกินเอื้อม ความรักที่ได้แต่รอคอย หรืออาจเป็นมโนภาพแห่งความสุขที่จะเกิดขึ้นเมื่อได้พบรักแท้เท่านั้น   เราจะเข้าใจโลกทัศน์ของคนลักษณ์นี้ได้  โดยนึกภาพว่าเราอยู่ในสภาวะจิตที่ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตโดยใช้อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา มากเท่ากับใช้ข้อเท็จจริงที่รับรู้   เป็นสภาวะที่ท่วงทำนองความรู้สึกและนัยยะแฝงเร้นในบทสนทนา มีความสำคัญและอยู่ในความทรงจำมากเท่า ๆ กับถ้อยความที่พูดออกมาจริง ๆ


คนลักษณ์ 5  นักสังเกตการณ์ (The Observer)

ตัวตนของนักสังเกตการณ์เป็นเหมือนป้อมปราการสูง บนยอดมีหน้าต่างบานเล็ก   คนนอกไม่สามารถรุกล้ำเข้ามาได้   ผู้พำนักแทบจะไม่ได้เยื้องกายออกนอกกำแพงปราการนี้เลย แต่จะคอยแอบดูอย่างเงียบเชียบ ว่ามีใครมาที่ประตูบ้าง   นักสังเกตการณ์เป็นคนเก็บตัวอย่างมาก  เขาชอบใช้ชีวิตอยู่ในที่สันโดษ ห่างไกลจากความเกี่ยวข้องทางอารมณ์  ชอบอยู่บ้านและมักดึงสายโทรศัพท์ออก  มองดูความเคลื่อนไหวอยู่ในระยะห่าง ด้วยสายตาราวกับว่าพยายามจะมีส่วนร่วม   ในวัยเด็ก คนลักษณ์ห้ารู้สึกถูกบุกรุก  เหมือนกำแพงป้อมปราการของเขามีช่องโหว่ และมีคนเข้ามาขโมยความเป็นส่วนตัวของเขาไป   กลยุทธ์การป้องกันตนเองของเขาคือการแยกตัวออกห่าง  ลดการติดต่อกับผู้อื่น ลดความต้องการให้น้อยลง และทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวไว้


คนลักษณ์ 6  นักปุจฉา (The Questioner)

คนลักษณ์หกหมดความไว้วางใจในผู้มีอำนาจตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก   ความทรงจำในวัยเด็กคือ กลัวคนที่มีอำนาจเหนือกว่า และอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้   ความทรงจำเหล่านี้ติดตัวมาจนเป็นผู้ใหญ่และกลายเป็นความสงสัยในแรงจูงใจของผู้อื่น   คนหกพยายามลดความรู้สึกไม่มั่นคงในใจนี้ด้วยการแสวงหาผู้คุ้มครองที่เข้มแข็ง หรือไม่ก็ทำการต่อต้านคนมีอำนาจด้วยท่าทีแบบนักปุจฉา (Devil’s Advocate)   ในด้านหนึ่ง คนหกปรารถนาที่จะเสาะหาผู้นำ หรือมอบความจงรักภักดีให้กับองค์กรที่สามารถคุ้มครองตน ซึ่งอาจเป็นองค์กรทางศาสนา บริษัท หรือมหาวิทยาลัย   แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ไม่ไว้ใจในระบบการใช้อำนาจ   ท่าทีทั้งสองแบบของคนหกนี้ มีที่มาจากความหวาดระแวงในตัวคนมีอำนาจเหมือนกัน


คนลักษณ์ 7  นักชิม (The Epicure)

คนเจ็ดไม่แสดงความวิตกกังวลออกมาและดูเหมือนไม่หวาดกลัวอะไร   เขามักสดใสรื่นเริง  และยุ่งอยู่กับการวางแผนและการเล่นสนุก   เขาไม่แสดงความหวาดระแวงของตนเองให้ใครเห็นตราบเท่าที่เขายังสามารถคิดถึงแผนการแห่งความสำเร็จในอนาคตนี่เป็นลักษณ์ของปีเตอร์แพนผู้เป็นเด็กตลอดกาล และเป็นลักษณ์ของนาร์ซิสซัส หนุ่มน้อยผู้หลงรักเงาของตนเองในสระน้ำ   นางไม้ที่ชื่อเอคโคหลงรักนาร์ซิสซัส แต่เพราะเขามัวหลงอยู่กับความงามของตนเอง จึงไม่ได้ยินเสียงเรียกของนางเอคโค   การหมกมุ่นอยู่กับตัวเองนี้ ทำให้เขาไม่ได้สนใจเธอ  และเสียงเรียกนั้นก็กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนกลับ


คนลักษณ์ 8  เจ้านาย (The Boss)

คนลักษณ์แปดไม่รู้สึกหวาดหวั่นว่าจะขัดแย้งกับใคร  ตรงกันข้าม เขามองตนเองเหมือนเป็นผู้พิทักษ์ความเป็นธรรม และรู้สึกภูมิใจในตนเองอย่างยิ่งกับการเป็นผู้ปกป้องผู้อ่อนแอ   ความรักของเขาแสดงออกมาในแบบของการคอยปกป้องคุ้มครองคนที่เขารักมากกว่าในรูปแบบของความอ่อนโยน   ความผูกพันหมายถึงการปกป้องคนรักไว้ในอ้อมแขน แล้วฝ่าฟันก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน    ประเด็นสำคัญคือ การควบคุม อำนาจ และความยุติธรรมของคนมีอำนาจนั้น   ลักษณ์แปดมักเข้าควบคุมรับผิดชอบ ใช้อำนาจจัดการ และคอยควบคุมไม่ให้คนอื่นมาแย่งชิงอำนาจ   เขาจะรู้สึกว่าะต้องคอยทดสอบความยุติธรรมและความสามารถของคนที่มีมีอำนาจอยู่เสมอๆ



คนลักษณ์ 9  นักไกล่เกลี่ย (Mediator)

ในวัยเด็ก คนลักษณ์เก้ารู้สึกว่าตนเองถูกมองข้ามความสำคัญ   ความทรงจำคือ ไม่ค่อยมีใครรับฟังเขา และความต้องการของคนอื่นสำคัญกว่าของเขาเอง   ในที่สุด คนลักษณ์เก้าก็ตกอยู่ในภาวะหลับไหล คือ เขาหันเหการใส่ใจจากความปรารถนาแท้จริงไปหมกมุ่นอยู่กับเรื่องที่ทำให้สบายใจ หรือเรื่องอื่นที่ทดแทนความรักได้   เมื่อตระหนักว่าเรื่องสำคัญของตนเองมักจะถูกมองข้ามอยู่เสมอ  คนเก้าจึงเรียนรู้ที่จะทำให้ตัวเองหมดความรู้สึก  หันเหความสนใจไปจากเรื่องสำคัญของตัวเอง และหลงลืมตัวเอง

เมื่อเกิดความจำเป็นเร่งด่วนขึ้นมา  ลักษณ์เก้าอาจไม่สามารถจดจ่อกับมันได้นานนัก  เขาอาจให้ความสำคัญกับเรื่องจุกจิกมากพอกันกับเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำให้ทันกำหนด   เช่น บางคนอาจต้องการทำความสะอาดโต๊ะทำงานให้เสร็จ ก่อนที่จะจัดการกับเรื่องบิลที่เกินกำหนดชำระแล้ว   ยิ่งเขามีเวลาและพลังงานที่จะทำเรื่องสำคัญนั้นมากเท่าไหร่  เขาก็ยิ่งหันไปใส่ใจกับเรื่องจุกจิกมากเท่านั้น


คำนำผู้แปล