เมื่อถึงทางตัน ต้องคิดนอกกรอบ (Out-of-the-box Thinking)

คุณรู้ไหมว่า อะไรทำไมคนเรามีสไตล์การทำงาน
การสื่อสาร หรือนำทีม แตกต่างกันอย่างมาก ?

บางคนถามหาแต่ยอด บี้เอาแต่เป้า
แต่บางคนกลับห่วงใยความเป็นอยู่และความรู้สึกของลูกน้อง เหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน
บางคนชอบจับผิดทุกเม็ด คอยคุมทุกฝีก้าว
ส่วนบางคนกลับปล่อยให้ทีมงานมีอิสระในการทำงานเต็มที่

ฯลฯ

ถ้าสังเกตให้ดี เราแต่ละคน จะมีการแสดงออกที่เป็นรูปแบบ (Pattern) เดิมๆ
จนเราแทบจะคาดเดาได้ว่า แต่ละเรื่อง แต่ละคนนั้นจะแสดงออกอย่างไร
ตัวเราก็เช่นกัน มัก react อย่างที่คนอื่นคาดเดาได้ไม่ยาก

รูปแบบในการทำงานของพวกเขาเหล่านี้เกิดจากอะไร?
เรามาลองทำกิจกรรมนี้ เพื่อทำความเข้าใจ กันดีกว่า

ถ้าพร้อมแล้วดูรูปเลยครับ

 

กติกาสำหรับ เกมนี้ ง่ายมาก นั่นคือ ให้คุณลองลาก เส้นตรง 4 เส้น
เพื่อเชื่อมต่อจุดทั้ง 9 เข้าด้วยกัน
โดยห้ามยกปากกาหรือดินสอ
ย้ำนะครับ จุดทั้ง 9 ต้อง เชื่อมเข้าด้วยกัน

ถ้าพร้อมแล้ว เริ่มได้ครับ

…..

….

…..

 

ถ้าคุณไม่เคยเล่นเกมนี้มาก่อน
พนันได้เลยว่า คุณอาจต้องคิดแล้วคิดอีก ก็ยังไม่รู้คำตอบ

บางคนเขียน 4 เส้น ได้ ผ่านจุดทั้ง 9 จริงๆ แต่ก็ไม่ได้เชื่อมมันเข้าด้วยกัน

ขณะที่บางคนเชื่อมได้ แต่ใช้จำนวนเส้นไม่ได้ตามที่โจทย์กำหนด

 

หากท่านไหน ลองทำได้แล้ว ดูเฉลย คลิ้กที่นี่ ครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับ สำหรับคนที่ดูเฉลยแล้ว
อาจนึกไม่ถึงว่า โยงแบบนี้ก็ได้เหรอ

ใช่ครับ วิธีแก้โจทย์นี้ มันง่ายอย่างนี้เลยละครับ
แต่เชื่อไหมครับว่า คนส่วนใหญ่ มักหาคำตอบไม่ได้
เพราะเผลอคิดไปว่า
เส้นตรงที่ลากต้องอยู่ในกรอบสี่เหลื่ยม ในความคิดของจุดทั้งหมด

ทั้งๆ ที่ไม่มีรูปสี่เหลี่ยมจริงๆ ในภาพเลย

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “กรอบความคิด” ที่แต่ละคนสร้างมันขึ้นมา
จากประสบการณ์ การเรียนรู้ ความทรงจำ ความเชื่อ ฯลฯ
และเป็นสิ่งกำหนดการแสดงพฤติกรรมของคนเราครับ

เราแต่ละคนก็ใช้ กรอบความคิด ในการจัดการปัญหาต่างๆ ทั้งในชีวิต และการทำงาน

ส่วนมากแล้ว ถ้าเป็นงานที่คุ้นเคย มันก็จัดการได้ไม่ยาก
แต่ถ้าเป็นเรื่องใหม่ๆ ที่ท้าทาย รวมทั้ง เรื่องการบริหารหรือเป็นผู้นำของหมู่คน
ดูเหมือนว่า ถ้ายังใช้กรอบความคิดเดิมๆ ก็จะถึงทางตัน
หรือไม่ก็ประสบปัญหา ความขัดแย้ง และผลกระทบในทางลบต่างๆ จนปวดหัว

นี่คือสัญญาณบอกแล้วว่า ถึงเวลาที่คุณต้อง “คิดนอกกรอบ” แล้วครับ

 

แต่ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญคือ
เราไม่รู้ตัวว่า เรา “ติดอยู่” หรือใช้ กรอบความคิดอะไร
สิ่งเหล่านี้อยู่ในระดับ จิตใต้สำนึกของเรา

เอ็นเนียแกรม คือ เครื่องมือที่อธิบายสิ่งเหล่านี้ให้เราชัดเจน และเห็นภาพได้

ลองอ่านทบทวน กรอบความคิดของคนแต่ละเบอร์ต่อไปนี้
แล้ว ดูว่า ดูน่าจะติดอยู่ใน กรอบ ของคนเบอร์ไหน มากที่สุด

 

คนเบอร์ 1 (นักสมบูรณ์แบบนิยม) “มาตรฐาน” “หลักการ” “คุณภาพสูงสุด” “วิธีการที่ถูกต้อง” “ความสมบูรณ์แบบ” “ความถูกต้องเกินร้อย %”
ทางตัน – ความหงุดหงิด เคร่งเครียด ไม่ยืดหยุ่น ไม่ถูกจริตคนเจนวายโดยมาก

คนเบอร์ 2 (ผู้ให้) “ความมีน้ำใจ” “ความเมตตา” “ความรัก ความเอาใส่ใจคนอื่น” “ความสัมพันธ์ที่ดี”
ทางตัน – ไม่บรรลุเป้าหมาย พนักงานไม่พัฒนา ระเบียบวินัยหย่อนยาน

คนเบอร์ 3 (ผู้ใฝ่สำเร็จ) “เป้าหมาย” ความสำเร็จ” “ผลลัพธ์” “ประสิทธิภาพ” “การเป็นที่ยอมรับ”
ทางตัน – ลูกน้องทำงานเหมือนเครื่องจักร ขาดความคิดสร้างสรรค์ สร้างบรรยากาศของการแข่งขัน พนักงานหมดกำลังใจ

คนเบอร์ 4 (ศิลปิน) “ความแตกต่าง” “ความมีเอกลักษณ์” “ความคิดสร้างสรรค์” “ความหมาย” “แรงบันดาลใจ”
ทางตัน – การทำงานไม่เป็นระบบ ขาดทิศทาง ขวัญและกำลังใจตกต่ำ

คนเบอร์ 5 (นักคิด) “ความรู้” “ข้อมูล” “การประหยัด” “การวิเคราะห์” “การไม่ใช้ความรู้สึก”
ทางตัน – ขาดพลัง ขาดแรงบันดาลใจ ความรู้สึกห่างเหินของลูกน้อง ผลงานล่าช้ากว่ากำหนด

คนเบอร์ 6 (นักตั้งคำถาม) “การป้องกันความเสี่ยง” “ความมั่นคง” “ความปลอดภัย” “กันไว้ดีกว่าแก้” “การจัดการปัญหา”
ทางตัน – เคร่งเครียด กังวล ติดอยู่กับการวิเคราะห์ปัญหา ขาดความไว้วางใจ ขาดพลังในการสร้างสรรค์

คนเบอร์ 7 (นักสุขนิยม) “ความคิดสร้างสรรค์” “การมองโลกในแง่ดี” “การสร้างแรงบันดาลใจ” “การมองบวก” “การคิดนอกกรอบ” “การลัดขั้นตอน”
ทางตัน – โปรเจ็คมาก แต่ไม่เสร็จ ปัญหาเรื่องคุณภาพ การไร้ทิศทาง รีซอร์ทไม่เพียงพอ ส่งมอบงานไม่ทัน

คนเบอร์ 8 (ผู้นำ) “ความตรงไปตรงมา” “ความเข้มแข็ง” “เรื่องเล็กเราไม่ เรื่องใหญ่เราทำ” “ความเด็ดขาด” “ความรวดเร็ว” “การเดินหน้าเต็มสูบ”
ทางตัน – บรรยากาศแห่งความกลัว พนักงานไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ทำผิดไม่กล้าบอก

คนเบอร์ 9 (นักไกล่เกลี่ย) “ความปรองดอง” “ความสมานฉันท์” “ประชามติจากทุกคนในทีม”
ทางตัน – ขาดทิศทางที่ชัดเจน ระเบียบวินัยหย่อนยาน ผลงานส่งมอบช้า

ตัวอย่าง กรอบความคิด และทางตันที่เกิดขึ้น
อาจช่วยให้คุณรู้ตัวว่า ตัวเองติดอยู่ในกรอบแบบใด

แต่สำหรับบางคน ก็อาจเป็นเรื่องยาก
เพราะสิ่งเหล่านี้ อยู่ในระดับที่เรามองไม่เห็น ไม่รู้ตัว

การทำความรู้จักตัวเอง จากเอ็นเนียแกรม นอกจากจะทำให้คุณเห็น กรอบความคิดของตัวเองได้ชัดแล้ว
ยังให้แนวทางที่ช่วยให้คุณ คิดนอกกรอบ อย่างชัดเจนและได้ผลด้วย


อ. วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช (CPA, MBA, MA)
MD บ. สยามเอ็นเนียแกรม คอลซัลติ้ง จำกัด
– Certified Enneagram Trainer, Accredited Enneagram Teacher (IEA)
– Certified MBTI Practitioner
– ประสบการณ์ในบริษัทต่างๆ 20 ปี (ตำแหน่งสุดท้าย Finance & HR Director – Bisnews AFE)
– นำการสัมมนาหลักสูตร เอ็นเนียแกรม ให้กับองค์กรต่างๆ มากกว่า 500 รุ่น
– แปลหนังสือเอ็นเนียแกรม และอื่นๆ รวม 14 เล่ม