ทำทีมอย่างไรให้ “เวิร์ค” จริงๆ

          “ทีมเวิร์ค” เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องการให้เกิดขึ้น ด้วยทราบกันดีอยู่แล้วว่า ความแตกต่างของคน คือพลังที่จะสร้างทีมงานที่สมบูรณ์

แต่ในการทำงานจริง คุณจะเห็นว่าการทำงานแบบเป็นทีมเวิร์คไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะความแตกต่างดังกล่าวกลับกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้สมาชิกในทีม มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน

วิธีแก้ปัญหาฉบับคลาสสิกที่มักแวบขึ้นมาในหัวของหลายท่านโดยทันที คือ ต้องรีบจัด Team Building ให้พนักงานทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากทำกิจกรรมฐาน และเชื่อมความสัมพันธ์กัน ในบรรยากาศแบบรื่นเริงใจ แล้วคาดหวังว่าเมื่อกลับมา พวกเขาจะรักใคร่กลมเกลียวกัน และพร้อมสร้างผลงานที่สุดยอดให้กับองค์กร ซึ่งก็คงไม่ผิดอะไร หากจะมีกิจกรรมดังกล่าวร่วมกันบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อให้บรรยากาศที่ร้อนระอุในองค์กรคลายลงบ้าง แต่เคยสังเกตไหมครับว่า หลังจากนั้นแล้ว ทีมเวิร์ค ขึ้นจริงๆ อย่างที่ตั้งใจไว้ไหม? กี่วัน?

อันที่จริง หากเปรียบองค์กรที่มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน คือคนที่กำลังเจ็บป่วย กิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์คงเป็นเพียง ยาแก้ปวด ที่ช่วยให้อาการปวดนั้นทุเลาลง แต่ไม่ได้ช่วยรักษาสาเหตุต้นตอของโรคเลย

วันดีคืนดีอาการของโรคก็จะปรากฏขึ้นมาอีก และต้องกินยาแก้ปวดนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปเรื่อยๆ  ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่หากองค์กรย้อนกลับมามองหาสาเหตุของโรค “ทีมไม่เวิร์ค” เพื่อให้รักษาได้อย่างตรงจุดและหายขาดได้ทันท่วงที

แพททริก เลนโซนี่  ได้บอกสาเหตุของการที่ “ทีมไม่เวิร์ค” นี้ไว้อย่างชัดเจนในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า The 5 Dysfunctions of a team (ซึ่งเป็นหนังสือขายดี ของ The New York Time และเป็น Best Seller ของ Amazon ในหมวดการบริหารและภาวะผู้นำ โดยผมได้แปลเป็นฉบับภาษาไทย ในชื่อ ทำทีมให้เวิร์ค กำจัด 5 อุปสรรคของทีมเวิร์ค)

book-07

presentation1

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แนวคิดของเขาได้มาจากประสบการณ์จริงๆ ที่ได้ทำงานร่วมกันกับซีอีโอและทีมผู้บริหารหลายองค์กรจนได้ข้อสรุปว่า แม้ทีมเวิร์คจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อองค์กร แต่ก็ทำให้เกิดยากมากด้วย เพราะแต่ละทีมงานมักจะประสบอุปสรรค 5 ประการสำคัญ ที่กระทบกันเป็นลูกโซ่ โดยเริ่มต้นจาก

  1. การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Absent of Trust) ซึ่ง Trust ในที่นี้ คือความไว้วางใจว่าคนในทีมจะไม่โจมตี หรือ ฉวยโอกาสจากจุดอ่อนของกันและกัน การขาด Trust จะทำให้คนในทีมคอยแต่ปกป้องจุดอ่อนของตนเอง ปกป้องชื่อเสียง และรักษาหน้าตาของตน

         อาการที่บ่งชี้ สมาชิกในทีมแต่ละคนจะทำงานในเรื่องเท่าที่ตนรับผิดชอบ ไม่เสนอตัวช่วยเหลือใคร มองคนอื่นในแง่ร้ายโดย         เก็บความไม่พอใจไว้ และไม่อยากอยู่ใกล้กันถ้าไม่จำเป็นจริงๆ

  1. กลัวความขัดแย้ง (Fear of Conflict) ต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่า ความขัดแย้งในที่นี้ เป็นคนละเรื่องกับการทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่คือความขัดแย้งที่เป็นการโต้เถียงในเรื่องไอเดียและแผนงาน ไม่โจมตีเรื่องส่วนตัวกัน แต่ก็ยังทำให้คนในทีมรู้สึกหงุดหงิด และเสียอารมณ์เหมือนกัน เมื่อไม่กล้าขัดแย้ง  แต่ละคนก็เสียเวลากับการสงวนท่าที  มีปัญหาก็ไม่กล้าพูดต่อหน้า และอาจไปใช้วิธีลับหลัง ที่อาจก่อให้เกิดผลที่เลวร้ายกว่า

         อาการที่บ่งชี้ ความปรองดองแบบปลอมๆ  เกรงใจกันเมื่อประชุม เลี่ยงเรื่องที่เสี่ยงต่อการโต้เถียง จนทำให้เสียเวลา ไม่ได้            ความคิดเห็น หรือมุมมองดีๆ เป็นชิ้นเป็นอันจากสมาชิกเพิ่มเติมเลย

  1. การขาดความผูกมัดตัวเอง (Lack of Commitment)  โดยปกติแล้ว คนเราจะรู้สึกมีคำมั่นสัญญากับแผนงาน หรือการตัดสินใจของทีม ก็ต่อเมื่อแต่ละคนได้แสดงความคิดเห็นและเกิดการพิจารณาร่วมกัน หรือถกเถียงจนได้ข้อสรุปที่ยอมรับร่วมกัน หากไม่แล้ว แน่นอนว่า  สมาชิกที่ไม่เห็นด้วยคงรับปากแต่ไม่คิดที่จะทำตามเลย

         อาการที่บ่งชี้ เป้าหมายคลุมเครือ ไร้ทิศทาง ลังเล ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรก่อน-หลัง จนพลาดโอกาสไปสู่ความสำเร็จ

  1. หลีกเลี่ยงการตรวจสอบ (Avoidance of Accountability) การขาดการตรวจสอบ ขาดการตักเตือนซึ่งกันและกัน ทำให้สมาชิกในทีมลำบากใจที่จะคุยกัน ยิ่งพอผสมกับความขี้เกรงใจของคนไทยด้วยแล้ว ทำให้อุปสรรคนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก

          อาการที่บ่งชี้ คนทำงานกันอย่างขอไปที และสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายเมื่อคนทำงานแย่ๆ ไม่ถูกกดดันให้ปรับปรุงตัวเอง
และคนส่วนใหญ่มักชอบคิดว่าหัวหน้าทีมเป็นคนเดียวที่ต้องมีบทบาทในการตรวจสอบลูกทีม

  1. การไม่ใส่ใจผลลัพธ์ (Inattention to Results) ในระดับนี้ สมาชิกในทีมมุ่งสนใจแต่ความก้าวหน้าของตนเอง และสร้างอาณาจักรส่วนตัวแทนที่จะสนใจเป้าหมายของทีม

        อาการที่บ่งชี้ สมาชิกในทีมรู้สึกไม่เดือดไม่ร้อน เพราะคิดว่าว่าตนเองประสบผลสำเร็จในเรื่องของตนก็พอแล้ว ไม่อยากทำ
อะไรให้ตัวเองต้องยุ่งยาก หรือ ภาษาที่พนักงานในองค์กรคุ้นเคยกันดี คือ “กลัวซวย” นั่นเอง

ท้ายที่สุด เมื่อผลลัพธ์ของทีมย่ำอยู่กับที่ พนักงานดีๆ ที่มุ่งเน้นผลสำเร็จ ก็จะทนไม่ได้จนลาออกไปอยู่ที่อื่น ส่วนสมาชิกที่เหลือก็ไม่มีสมาธิทำงาน เพราะมัวพะวงแต่เป้าหมายส่วนตัว

จากทั้งหมดที่กล่าวมา สังเกตเห็นอาการ ของ “ทีมไม่เวิร์ค” ในองค์กรของคุณบ้างหรือไม่ครับ ? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าดูจากทีมที่มี CEO เป็นหัวหน้า และมีผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายต่างๆ เป็นสมาชิกหรือคุณลองประเมินดูอย่างคร่าวๆ ได้ดังนี้

Team Assessment: อ่านข้อความต่อไปนี้ แล้วดูว่าทีมของคุณทำสิ่งนั้น หรือเป็นแบบนั้นบ่อยแค่ไหน ถ้า ทำบ่อยจนเป็นเรื่องปกติ ให้ใส่เลข 3 หน้าข้อนั้น  แต่ถ้า ทำเป็นบางครั้ง ให้ใส่เลข 2  ถ้า ทำน้อยมาก ให้ใส่เลข 1 เพื่อให้ได้ผลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด  เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทีมงาน และประสิทธิภาพในการทำงานของทีม   กรุณาประเมินแต่ละข้ออย่างตรงไปตรงมา
______ 1.     สมาชิกทีมหยิบประเด็นปัญหาต่างๆ มาพูดคุยกันอย่างเต็มที่ ไม่ได้รู้สึกว่าต้องป้องกันตัว
______ 2.     เมื่อมีคนในทีมพูดหรือทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรืออาจส่งผลเสียต่อทีม สมาชิกทีมคนนั้นก็รีบขอโทษเพื่อนร่วมทีมอย่างจริงใจ
______ 3.     สมาชิกทีมกล้าที่จะยอมรับจุดอ่อนและความผิดพลาดของตนอย่างเปิดเผย
______ 4.     การประชุมของทีมมีความน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ
______ 5.     ในระหว่างการประชุมทีม มีการหยิบยกประเด็นปัญหาที่ยากและสำคัญที่สุดมาคุยกันเพื่อหาทางแก้ไข
______ 6.     สมาชิกทีมรู้เรื่องชีวิตส่วนตัวของกันและกันและพูดคุยเรื่องเหล่านี้ได้อย่างสบายใจ

      ทำเสร็จแล้ว ลองรวมคะแนน ดูค่าเฉลี่ย หากได้ไม่เกิด 2 หมายความว่าทีมของคุณยังไม่ได้เป็นอย่างที่เรียกว่า “ทีมเวิร์ค” ครับ

จะทำให้ทีมกลับมา “เวิร์ค” อย่างไร?

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แค่อุปสรรคตัวแรกก็ยากแล้ว เพราะเป็นสัญชาติญาณของทุกคนที่ต้องคอยปกป้องตัวเองโดยเฉพาะในเรื่องของจุดอ่อน ความผิดพลาด หรือเรื่องที่ตัวเองทำได้ไม่เก่งนักจึงไม่แปลกใจเลยที่องค์กรส่วนมากยังทำงานเป็นทีมเวิร์คไม่ได้เต็มที่

ในท้ายเล่มผู้เขียนได้แนะนำกิจกรรมต่างๆ เพื่อจัดการกับอุปสรรคแต่ละตัว แต่ก็อีกนั่นแหละ คงไม่ใช่เรื่องสะดวกใจนักที่คนในองค์กรจะลุกขึ้นมาทำสิ่งเหล่านั้น

การเรียนรู้เอ็นเนียแกรม หรือ นพลักษณ์ จะช่วยให้แต่ละคนมองเห็น และยอมรับตนเองอย่างที่เป็นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกรอบความคิด  ความเชื่อ แรงจูงใจค่านิยมรวมไปถึง จุดแข็ง และจุดอ่อน ประสบการณ์นำสัมมนาเอ็นเนียแกรมมากกว่า 400 รุ่นของผม ไม่พบว่ามีผู้ใดรู้สึกต่อต้านไม่ยอมรับสิ่งที่ตนเองค้นพบ นอกจากยอมรับจุดอ่อนแล้ว เอ็นเนียแกรมยังช่วยให้การจัดการอุปสรรคแต่ละตัวเป็นไปอย่างชัดเจนและง่ายขึ้น เช่น คนเบอร์แปด (ลักษณ์ 8 ในนพลักษณ์) ที่มีลักษณะไม่หวั่นเกรงต่อความขัดแย้งใดๆ เลย จะไม่มีปัญหาจากอุปสรรคในข้อนี้ แต่กับคนอีกประเภทคือ คนเบอร์เก้ากลับตรงกันข้ามคือ ไม่ชอบความขัดแย้งอย่างมาก เมื่อรู้ตัวแล้วก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อเรื่องนี้ เป็นต้น

ปีนี้ ผมมีไอเดียที่จะจัดแนะนำหลักสูตร (preview) กำจัดอุปสรรค  5 ประการ ของทีมงานด้วยเอ็นเนียแกรม ให้กับ CEO ของแต่ละบริษัท หากท่านสนในที่จะสำรองที่นั่งให้กับผู้บริหารสูงสุดของท่านกรุณาแจ้งกลับมาตาม อีเมล์ที่ส่งบทความให้กับท่าน เมื่อเราได้จำนวนคน วันและเวลาที่เหมาะสมแล้ว จะทำจดหมายเรียนเชิญ

ระหว่างนี้ หากท่านประสงค์ทราบแนวคิดจากหนังสือเล่มนี้ เรายินดีจำหน่ายให้กับท่านในราคาพิเศษ เพียงเล่มละ 120 บาท รวมค่าจัดส่งทางไปรษณีย์ครับ

สุดท้ายนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านคงเห็นแล้วว่าอุปสรรคที่บั่นทอนการทำงานเป็นทีมนั้น เป็นอะไรที่ยิ่งกว่าการเชื่อมความสัมพันธ์แบบผิวเผิน และหากแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวได้ องค์กรจะเห็นทีมทำงานที่ “เวิร์ค” อย่างเป็นรูปธรรม คุ้มค่ากับทรัพยากรที่องค์กรลงทุนไป ทั้งในรูปตัวเงิน และเวลาที่เสียไปอย่างแน่นอนครับ