StrengthsFinder เปรียบเทียบกับ เอ็นเนียแกรม (ตอนที่ 2)

“ทุกคนมีพรสวรรค์ตามธรรมชาติ และชีวิตของเราจะก้าวหน้าไปได้ไกลสุด ถ้าเราโฟกัสที่การพัฒนาการใช้จุดแข็งของเราให้มากขึ้น  ไม่ใช่พยายามลดจุดอ่อนให้น้อยลง”

นี่คือ ปรัชญาพื้นฐานของ Strengthsfinder

ดูเผินๆ ก็น่าจะเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง  แต่ผมคิดว่า เป็นข้อสรุปที่ง่ายเกินไป (over-simplified)
เพราะในความเป็นจริง มันขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ลักษณะงาน  ตำแหน่งงาน ลักษณะของจุดแข็ง และจุดอ่อน ฯลฯ ด้วย

เช่น ถ้าคุณอยู่ในตำแหน่งพนักงานเริ่มต้น ที่เน้นงานด้าน technical ตามสายงาน  คุณอาจนำจุดแข็งมาใช้ในงาน ถ้ามันสอดคล้องกับลักษณะของงานนั้น จนส่งผลให้คณมีผลงานที่โดดเด่นได้

เช่น

Analytical ในงานที่ต้องใช้การวิเคราะห์เป็นหลักเช่น เจ้าหน้าที่สินเชื่อ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์/การเงิน การประเมินความเสี่ยง ฯลฯ

Empathy ในงานที่ต้องใช้ความเข้าอกเ้ข้าใจผู้อื่นเป็นหลัก เช่น งานบริการ Call center, Customer service, งานประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

แต่เมื่อคุณได้รับการโปรโมตเป็น หัวหน้างาน ทักษะอื่นๆ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการบริหาร สื่อสาร และตัดสินใจ อาจมีความสำคัญยิ่งกว่า จุดแข็งหรือพรสวรรค์ที่คุณเคยใช้พาคุณมาถึงจุดนี้

ลองนึกภาพดูว่า ถ้าสิ่งเหล่านั้น เป็นจุดอ่อนของคุณ และคุณไม่สนใจพัฒนา ผลจะเป็นอย่างไร
เช่น

  • มีจุดแข็ง เรื่องการวิเคราะห์ แต่มีจุดอ่อน ด้านการปรับตัว และด้านเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ซึ่งจำเป็นมากต่อการบริหารลูกน้อง
  • มีจุดแข็งด้านการเข้าอกเข้าใจคนอื่น แต่มีจุดอ่อนด้าน Achiever การสั่งการ  การตัดสินใจ  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของหัวหน้างาน
  • ฯลฯ

ที่จริง นี่เป็นสิ่งที่เราพบเห็นบ่อยๆ คือ คนที่ทำงานเฉพาะด้านของตนได้ดี แต่เมื่อมาเป็นหัวหน้างาน กลับล้มเหลวอย่างมาก ดังคำกล่าวที่ว่า “เสียพนักงานที่ดีไปคนหนึ่ง ได้หัวหน้าที่เลวมาคนหนึ่ง

“หนังสือ ปั้นคนให้เก่งคน บทที่ 4 เรื่อง การพัฒนาภาวะผู้นำ  ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงมากๆ ข้อหนึ่งว่า  “จุดแข็งที่ผู้นำใช้มากไป  จะกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ผู้นำนั้้นประสบความล้มเหลวได้”

ขอยกตัวอย่างของผู้นำที่มี Achiever เป็นจุดแข็งมากที่สุด ซึ่งถ้าดูจากนิยามของ Strengthsfinder น่าจะตรงกับผู้นำสไตล์เอ็นเนียแกรมที่ 3 มากที่สุด  และเป็นฉายาของผู้นำสไตล์นี้ด้วย

คนสไตล์สามในเอ็นเนียแกรม มี Mindset ในเรื่องของการเป็นผู้นำว่า
“หน้าที่ของผู้นำคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่นำมาซึ่งผลสำเร็จ  เพราะทุกคนเข้าใจเป้าหมายและโครงสร้างขององค์กรดีอยู่แล้ว”

จาก Mindset นี้ ทำให้ผู้นำมุ่งพัฒนาพรสวรรค์ และจุดแข็งต่างๆ ดังตาราง
และเมื่อใช้จุดแข็งที่มีมากเกินไป สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ

“ผู้นำสไตล์สามทุ่มเทความพยายามอย่างหนักเพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จ  เขาอาจจดจ่อกับการทำงานมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตในด้านอื่น ๆ  รวมถึงเรื่องความรู้สึกของตนเองและของคนรอบข้างด้วย”

ขอใช้ต้วอย่างจากหนังสือมาอธิบายให้เห็นภาพชัดๆ ดังนี้

ผู้นำสไตล์สามมักประสบความสำเร็จอย่างสูง  เขาสั่งสมประสบการณ์จนสามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่า  เขาจะต้องทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จในแต่ละสถานการณ์  แล้วเขาจะปรับเปลี่ยนบุคลิกและพฤติกรรมให้เป็นไปตามนั้น  ด้วยความที่เป็นคนกระตือรือร้นและเน้นเป้าหมาย  เขาจึงให้ความสำคัญกับผลลัพธ์และมองหาการยอมรับในผลงานของตน  ผู้นำสไตล์สามเน้นการทำงานเป็นอย่างมากจนไม่เหลือเวลาให้กับการใช้ชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนอย่างมีความสุข  การได้อยู่กับเพื่อน ๆ  หรืออยู่กับความรู้สึกของตนเอง

เนื่องจากสไตล์สามตามเอ็นเนียแกรมอยู่ในศูนย์ใจหรือศูนย์อารมณ์  บางคนอาจสงสัยว่าทำไมผู้นำสไตล์สามจึงดูเหมือนว่าจะไม่สามารถจัดการกับเรื่องความรู้สึกได้ดีนัก  ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกของตนเองหรือของผู้อื่น  จริง ๆ แล้วคนสไตล์นี้อาจสนใจเรื่องอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่นเหมือนกัน  แต่ก็ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้ตนเองเป็นที่ยอมรับนับถือของคนเหล่านั้น  แม้ว่าผู้นำสไตล์สามหลายคนจะตระหนักถึงความรู้สึกของตนเอง  แต่พวกเขาก็มักไม่ชอบเสียเวลาคิดหรือบอกเล่าความรู้สึกนั้นกับผู้อื่นมากนัก  เขาจะจัดการกับความรู้สึกในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น  จากนั้นก็จะกลับไปทำงานต่อ  บางคนอาจสัมผัสได้ว่าตัวเองกำลังมีความรู้สึกบางอย่าง  แต่กลับไม่สามารถแยกแยะว่าเป็นความรู้สึกอะไรกันแน่  นั่นเป็นเพราะเขาขาดความสนใจและไม่เคยฝึกฝน  คนสไตล์สามชอบที่จะ  “ทำ”  มากกว่าที่จะ  “รู้สึก”

ที่จริงผู้นำสไตล์สามก็ชอบความรู้สึกในด้านบวกเช่นกัน  (ตราบใดที่มันไม่ได้มากจนเกินไป)  เพราะมันช่วยส่งเสริมทัศนคติแบบ  “ทำได้”  ของเขา  แต่ความรู้สึกต่างๆ ย่อมมีทั้งที่เป็นบวกและเป็นลบ  ที่เป็นลบนั้นย่อมขัดกับการมองโลกในแง่ดีในแบบฉบับของผู้นำสไตล์สาม  ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ของตนเองหรือของผู้อื่นก็ตาม  ความโกรธ  ความเศร้า  และความกลัวเกี่ยวพันกับสิ่งที่ผู้นำสไตล์สามต้องการหลีกเลี่ยงมากที่สุด…ซึ่งได้แก่ความล้มเหลวนั่นเอง

หากคุณถามผู้นำสไตล์สามว่าเคยล้มเหลวหรือไม่  เขาก็อาจทำหน้างง ๆ เหมือนไม่เข้าใจคำถาม  หรือไม่ก็อาจถามกลับว่า  “ความล้มเหลวของคุณหมายความว่าอย่างไร”  แต่ถ้าเขาจะยอมรับว่าเคย  เขาก็มักจะเลี่ยงไปใช้คำอื่นเช่น  เช่น  เขาอาจบอกว่าเป็น  “ประสบการณ์ที่ทำให้ได้เรียนรู้”  ซึ่งเป็นการใช้ภาษาเพื่อปรับเปลี่ยนเหตุการณ์อันเจ็บปวดและน่าอับอายให้ดูดีขึ้น  แต่คำพูดนี้ก็มีความจริงอยู่ด้วย  เพราะผู้นำสไตล์สามจะเรียนรู้จากความผิดพลาด  และพยายามที่จะไม่ทำผิดซ้ำเรื่องเดิมเป็นครั้งที่สอง

เมื่อผู้นำสไตล์สามรู้สึกว่ากำลังถูกกดดันหรือเป็นกังวลอย่างมาก  เขาก็จะหยุดพักชั่วคราวแล้วหันไปทำอะไรที่จะช่วยให้ลืมความกังวล  (สไตล์สามเปลี่ยนไปเป็นสไตล์เก้าเวลาที่รู้สึกเครียด)  ในยามที่ไม่หักโหมจนเกินไป  ผู้นำสไตล์สามก็จะใช้เวลาเพื่อคิดและทบทวนเกี่ยวกับตัวเอง  ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจผู้คน  ความคิด  หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ  (สไตล์สามเปลี่ยนไปเป็นสไตล์หกเวลาที่รู้สึกสบายใจ)

 


ตัวอย่างเพิ่มเติมจากผู้นำอีกสองสไตล์คือ 1 และ 2 ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึง Mindset ของผู้นำ ที่ก่อเกิดมาเป็นจุดแข็ง  และกลายเป็นจุดอ่อนเมื่อใช้จุดแข็งเหล่านั้นมากไป

 

ถ้าท่านทำงานในองค์กร ก็จะเห็นตัวอย่างจากผู้จัดการ หรือหัวหน้างานมากมาย ที่ใช้จุดแข็งที่มีมากเกินไป จนกลายเป็นจุดอ่อน และถ้าไม่พยายามแก้ไขจุดอ่อนเหล่านั้น ก็อาจประสบความล้มเหลวได้

ความรู้เอ็นเนียแกรม อธิบายให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้นำแต่ละสไตล์ มีจุดแข็งอะไร และยังให้แนวทางให้การพัฒนาตัวเอง เพื่อลดจุดอ่อน ไม่ให้ส่งผลเสีย ต่อภาวะผู้นำของตนได้


วิทยากร

อ. วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช (CPA, MBA, MA)

  • MD บ. สยามเอ็นเนียแกรม คอลซัลติ้ง จำกัด
  • Certified Enneagram Trainer, Accredited Enneagram Teacher (IEA)
  • Certified MBTI Practitioner
  • ประสบการณ์ในบริษัทต่างๆ 20 ปี
    (ตำแหน่งสุดท้าย Finance & HR Director – Bisnews AFE)
  • นำการสัมมนาหลักสูตร เอ็นเนียแกรม ให้กับองค์กรต่างๆ มากกว่า 600 รุ่น
  • แปลหนังสือเอ็นเนียแกรม และอื่นๆ รวม 14 เล่ม